"ประเภทของถังเก็บน้ำหากแบ่งตามลักษณะการติดตั้ง จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ การติดตั้งบนดิน และใต้ดิน ถังเก็บน้ำที่เหมาะกับการติดตั้งใต้ดินคือ ถังเก็บน้ำคอนกรีตและถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดฝังดิน ส่วนถังเก็บน้ำที่เหมาะกับการติดตั้งบนดินคือ ถังเก็บน้ำสเตนเลสและถังเก็บน้ำพลาสติก ซึ่งคุณสมบัติก็จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะการใช้และวัสดุ"
ถังเก็บน้ำมีหน้าที่สำรองน้ำไว้ใช้ยามที่น้ำไม่ไหล สามารถใช้ร่วมกับระบบจ่ายน้ำทั้งแบบจ่ายขึ้นและจ่ายลง (up feed & down feed) แต่สำหรับบางบ้านที่ไม่ได้มีปริมาณการใช้น้ำภายในบ้านมากนัก และไม่ได้ต้องการใช้ปั๊มน้ำ ก็สามารถใช้น้ำจากระบบประปาได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งถังเก็บน้ำก็ได้ เพียงแต่อาจจะต้องประสบปัญหาไม่มีน้ำใช้เวลาที่น้ำไม่ไหลเท่านั้นเอง
สำหรับการเลือกขนาดถังเก็บน้ำ จะพิจารณาจากจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้านและระยะเวลาในการกักเก็บสำรองน้ำเอาไว้ใช้ โดยจากข้อมูลของการประปานครหลวง ผู้ที่พักอาศัยในเขตนครหลวงจะใช้น้ำเฉลี่ย 200 ลิตรต่อคนต่อวัน (ผู้ที่พักอาศัยในเขตเทศบาลจะใช้น้ำเฉลี่ย 120 ลิตรต่อคนต่อวัน และผู้ที่พักอาศัยแถบชานเมืองจะใช้น้ำเฉลี่ย 70 ลิตรต่อคนต่อวัน: ข้อมูลของการประปาส่วนภูมิภาค) ดังนั้นปริมาณน้ำดีที่จะกักเก็บสำรองไว้ใช้จะเท่ากับ
จำนวนผู้พักอาศัย X ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยต่อคนต่อวัน X ระยะเวลาที่ต้องการสำรองน้ำไว้ใช้ (ประมาณ 3 วัน)
ดังนั้นถ้าที่บ้านมีผู้อยู่อาศัย 4 คน ขนาดถังเก็บน้ำที่ควรเลือกใช้คือขนาดไม่น้อยกว่า 4 x 200 x 3 = 2,400 ลิตร เป็นต้น
ตัวอย่างการคำนวณ เพื่อเลือกขนาดถังเก็บน้ำ
การติดตั้งถังเก็บน้ำ
ต่อมาคือเรื่องตำแหน่งในการติดตั้งและการเลือกวัสดุของถังเก็บน้ำ ซึ่งสามารถแบ่งการติดตั้งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ การติดตั้งบนดินและใต้ดิน
ถังเก็บน้ำใต้ดิน
1. การติดตั้งถังเก็บน้ำใต้ดิน
สำหรับการติดตั้งถังน้ำใต้ดินเหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัดโดยต้องมีโครงสร้างรับน้ำหนักถังเก็บน้ำบริเวณใต้ดิน เพื่อป้องกันการทรุดตัวที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งผู้ผลิตมักจะระบุขนาดของโครงสร้างที่เหมาะสมไว้ในคู่มือการติดตั้ง ข้อดีของการติดตั้งใต้ดิน นอกจากเรื่องพื้นที่แล้วคืออุณหภูมิของน้ำจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการดูแลรักษาที่ต้องระมัดระวังมากกว่าชนิดติดตั้งบนดิน ทำความสะอาดยาก รวมถึงราคาของการติดตั้งที่ค่อนข้างสูง
สำหรับถังเก็บน้ำที่เหมาะกับการติดตั้งลักษณะนี้คือ ถังเก็บน้ำคอนกรีตและถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดฝังดิน
ข้อดีของถังเก็บน้ำคอนกรีตคือ สามารถหล่อขึ้นรูปได้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ที่มี แข็งแรงทนทาน โดยต้องออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง และเหมาะสมกับบริเวณที่ทำการติดตั้ง ทั้งนี้มีข้อควรระวังในส่วนของการรั่วซึมที่อาจเกิดขึ้นได้หากทำระบบกันซึมไม่ดี รวมถึงควรเลือกผลิตภัณฑ์กันซึมชนิดที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายและลดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย
สำหรับถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดฝังดินผลิตจากไฟเบอร์กลาส ต้องเตรียมโครงสร้างบริเวณใต้ดินไว้รองรับเช่นกัน แต่สามารถติดตั้งได้รวดเร็วกว่าชนิดคอนกรีต มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับแรงกดและแรงกระแทกได้ดี ไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษจากเคมีภัณฑ์ที่มากันรั่วซึม เนื่องจากผลิตมาจากโรงงาน แต่เนื่องจากมีรูปทรงที่จำกัดจึงควรเตรียมพื้นที่หน้างานและโครงสร้างให้พอดีกับขนาดที่เลือกใช้
ถังเก็บน้ำคอนกรีต
2. การติดตั้งถังเก็บน้ำบนดิน
สำหรับการติดตั้งถังเก็บน้ำบนดิน เหมาะสำหรับบ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่ภายในบ้าน มีข้อดีคือสามารถดูแลรักษาง่าย เคลื่อนย้ายหรือซ่อมบำรุงได้ไม่ยาก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการน้อยกว่าชนิดติดตั้งใต้ดิน โดยถังเก็บน้ำที่ได้รับความนิยมสำหรับการติดตั้งลักษณะนี้คือ ถังเก็บน้ำสเตนเลสและถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดติดตั้งบนดิน
ถังสเตนเลส มีความทนทานแข็งแรง ทำความสะอาดภายในถังง่าย เนื่องจากมีรูถ่ายน้ำอยู่บริเวณก้นถัง มีขาตั้งบริเวณก้นถังเพื่อป้องกันสนิมที่จะเกิดขึ้นจากการสัมผัสความชื้นของดิน แต่มีข้อจำกัดคือ ควรใช้กับน้ำสะอาดหรือน้ำประปาเท่านั้น ไม่เหมาะกับน้ำกร่อยหรือน้ำบาดาล เนื่องจากวัสดุไม่ทนต่อกรดและด่างและควรระมัดระวังสนิมที่อาจเกิดขึ้นได้ตามรอยเชื่อม
ถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดติดตั้งบนดิน ปัจจุบันมีนวัตกรรมยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย มีรูปทรง สี และลวดลายหลากหลาย ไม่มีขาตั้งเหมือนถังเก็บน้ำสแตนเลส จึงต้องติดตั้งบริเวณพื้นผิวที่เรียบสม่ำเสมอ และมีการลงโครงสร้างรับน้ำหนักเรียบร้อย ตำแหน่งรูถ่ายน้ำอยู่บริเวณด้านข้าง จึงอาจจะเกิดตะกอนในถังเล็กน้อยหากมีการถ่ายน้ำ
ถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดฝังดิน
ถังเก็บน้ำพลาสติกชนิดฝังดิน
ถังน้ำสเตนเลส
ถังน้ำสเตนเลส
ถังเก็บน้ำพลาสติก
ถังเก็บน้ำพลาสติกมีรูปทรง สี และลวดลายให้เลือกใช้หลากหลาย
Credit ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก : https://www.scgbuildingmaterials.com
เนื้อหาที่คล้ายกัน