img


มัดรวมขั้นตอนขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน สรุปครบจบทุกประเด็น

การสร้างบ้านนอกจากจะต้องวางงบประมาณให้มีความชัดเจน เลือกแบบบ้านที่ชอบ พร้อมทั้งออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์การใช้งานของคนในครอบครัวแล้ว หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้มาก่อนว่า ก่อนที่จะสร้างบ้านนั้นจะต้องทำเรื่องในการขออนุญาตก่อสร้างบ้านก่อนเสมอ เพื่อประเมินว่าแบบที่ต้องการสร้างนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ และเป็นไปตามที่กฎหมายขออนุญาตก่อสร้างบ้านกำหนดไว้ไหม บทความนี้ Global House จะชวนทุกคนไปดูกันว่าก่อนที่จะสร้างบ้านนั้น จะต้องขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านจากที่ไหน และมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไรบ้าง ถ้าใครพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย

ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านคืออะไร

ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านคือใบแสดงว่าได้รับอนุญาตในการก่อสร้างบนพื้นที่นี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการก่อสร้างอาคาร หรือบ้านเรือนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยนั้น จะต้องทำการขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านก่อนเสมอ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ” 

ดังนั้นก่อนที่จะสร้างบ้าน อาคารพาณิชย์ หรือสร้างอาคารต่างๆ จะต้องขออนุญาตก่อสร้างบ้านก่อนเสมอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้ามาประเมิน และตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ต้องการปลูกสร้างอาคารนั้นมีความปลอดภัย เหมาะสมต่อการสร้างหรือไม่ รวมถึงมีการตรวจสอบแบบแปลนที่ออกแบบไว้ว่าได้มาตรฐานครบในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะย่น ระยะห่าง การเว้นที่วางรอบบ้าน เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย และบ้านเรือนอื่นๆ บริเวณรอบๆ

ขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านต้องทำอย่างไร


การขออนุญาตก่อสร้างบ้านเป็นการยื่นแบบแปลนบ้าน พร้อมด้วยเอกสารจำเป็นอื่นๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการพิจารณาว่ามีความเหมาะสม และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งวิธีการขอใบอนุญาตมีเอกสาร พร้อมทั้งขั้นตอน และวิธีการดังนี้

เอกสารที่ใช้ในการขออนุญาตก่อสร้างบ้าน


การขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านนั้นต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ให้มีความพร้อม เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลา ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตมีดังนี้

  1. ใบคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (ข.1)

  2. เอกสารในการแสดงสิทธิ์ที่ดิน ในกรณีที่เป็นเจ้าของที่ดินเองก็จะใช้โฉนดที่ดิน แต่หากไม่ใช่เจ้าของที่ดินจะต้องมีเอกสารในการเซ็นยินยอม เพื่อแสดงว่าได้รับอนุณาตจากเจ้าของที่ดินเรียบร้อยแล้ว 

  3. แบบก่อสร้าง (Construction Drawing) จำนวน 5 ชุด สำหรับเป็นแบบก่อสร้างนั้นเขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการก่อสร้าง ซึ่งภายในแบบก่อสร้างนั้นจะต้องมีรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมถึงต้องเขียนให้เห็นมุมมองของบ้านทั้ง 4 ด้าน ซึ่งแบบที่ใช้สำหรับการยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านต้องมีสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรอง นอกจากนี้จะต้องแยกรายละเอียดตามที่กำหนด ดังนี้

    1. แบบสถาปัตยกรรม เป็นแบบที่เขียนให้เข้าใจถึงรูปแบบของบ้าน ว่าจะสร้างแบบใด และใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรในการก่อสร้างบ้าง

    2. แบบวิศวกรรมโครงสร้าง เป็นแบบที่เขียนถึงตัวโครงสร้างส่วนต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของคาน และเสา 

    3. แบบวิศวกรรมสุขาภิบาล เป็นแบบที่เขียนถึงระบบน้ำต่างๆ ภายในบ้าน ตั้งแต่ท่อน้ำประปา ท่อน้ำทิ้ง และท่อบำบัดน้ำเสีย 

    4. แบบวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นแบบที่เขียนถึงรูปแบบในการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ว่าเลือกใช้งานระบบไฟฟ้าแบบใดบ้าง พร้อมทั้งต้องบอกถึงขนาดของเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ติดตั้งไฟฟ้าภายในบ้านด้วย

  4. รายการคำนวณโครงสร้าง เป็นรายการที่คำนวณให้เห็นถึงหน้าตัดโครงสร้างส่วนต่างๆ ของบ้าน ที่จะใช้สำหรับการก่อสร้าง เพื่อช่วยให้แบบแปลนมีความน่าเชื่อถือว่าผ่านการคำนวณจากวิศวกร และมีความปลอดภัยในการก่อสร้าง

  5. หนังสือรับรองผู้ออกแบบสถาปิกและวิศวกร พร้อมแนบสำเนาใบอนุญาต

  6. สำเนาบัตรประชาชน ในกรณีที่ไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง จะต้องมีเอกสารมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน ในเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างบ้าน

  7. สำเนาทะเบียนบ้าน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลให้ใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนแทน

ขั้นตอนการขออนุญาตสร้างบ้าน


เมื่อเตรียมเอกสารต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ต่อไปก็ถึงขั้นตอนการขออนุญาต ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

 1. ยื่นคำร้องต่อสำนักงานท้องถิ่น

นำเอกสารต่างๆ ที่เตรียมไว้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่บ้านหลังนั้นๆ ตั้งอยู่ เพื่อทำการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งต้องรอผลการตรวจสอบว่าผ่านหรือไม่ภายใน 45 วัน หากเอกสารไม่ครบ หรือขาดในส่วนใด เจ้าหน้าที่จะแจ้งเพื่อทำการแก้ไข หลังจากที่ผ่านแล้วก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้

2. ให้สำนักงานเขตท้องถิ่นตรวจแบบแปลน

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะทำการตรวจสอบแบบแปลนที่ได้ส่งไปว่ามีความถูกต้อง และปลอดภัยต่อการก่อสร้างหรือไม่ หากแบบแปลนที่ส่งไปตรวจสอบผ่านแล้วจะต้องมีการก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้

3. รับใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการแจ้งว่าเอกสารต่างๆ ผ่านเรียบร้อย จะต้องเดินทางไปรับใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าสามารถเริ่มก่อสร้างได้ แต่ในกรณีที่เอกสารไม่ผ่าน เจ้าหน้าที่จะแจ้งเพื่อให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม และยื่นเอกสารขออนุญาตก่อสร้างบ้านอีกครั้ง

4. ทำสำเนาใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน 

เมื่อได้รับเอกสารใบอนุญาตก่อสร้างบ้านแล้ว ควรทำสำเนาเก็บไว้ รวมถึงทำสำเนาให้ผู้รับเหมา สถาปนิก และวิศวกรเก็บไว้คนละหนึ่งชุด เมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบจะได้มีหลักฐานยืนยัน ไม่ต้องรอให้ผู้ที่มีใบอนุญาตก่อสร้างบ้านตัวจริงมาชี้แจ้งอย่างเดียว ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาได้มาก

ยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน ใช้เวลากี่วัน

ตามกฎหมายขออนุญาตก่อสร้างบ้านหลังจากที่ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะมีการนัด เพื่อเข้าไปตรวจสถานที่ในการก่อสร้าง หากเอกสารต่างๆ มีความถูกต้อง และครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาตให้ภายใน 45 วัน

ค่าธรรมเนียมยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน

สำหรับค่าธรรมเนียมในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านนั้นให้ยึดตามมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

  • ใบอนุญาตก่อสร้างฉบับละ 20 บาท
  • ใบอนุญาตดัดแปลงฉบับละ 10 บาท
  • ใบอนุญาตรื้อถอนฉบับละ 10 บาท
  • ใบอนุญาตเคลื่อนย้ายฉบับละ 10 บาท
  • ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้ฉบับละ 20 บาท
  • ใบรับรองฉบับละ 10 บาท
  • ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรองฉบับละ 5 บาท

ทำไมต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน

การทำเรื่องขออนุญาตก่อสร้างบ้านนั้นเป็นการตรวจสอบโครงสร้างของบ้านที่ต้องการสร้าง เพื่อช่วยให้มีความมั่นใจได้ว่าบ้านที่ต้องการสร้างนั้นมีความปลอดภัย เหมาะที่จะอยู่อาศัย และไม่ทำให้เพื่อนบ้านเกิดความเดือดร้อน นอกจากนี้การขออนุญาตยังเป็นการจัดการอาคารบ้านเรือนให้มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย มีแนวทางในการก่อสร้างไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ไม่เกิดปัญหา

สร้างบ้านแบบไหนไม่ต้องขอในอนุญาต

โดยปกติแล้วการก่อสร้างอาคารใดๆ จำเป็นจะต้องขออนุญาตในการก่อสร้าง แต่มีบางกรณีที่มีการยกเว้นไม่จำเป็นต้องขออนุญาต คือ ในกรณีที่ที่ดินอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล แต่มิได้อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดการตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑๑) หรือประกาศกระทรวงมหาดไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกตามมาตรา ๑๓ ใช้บังคับ สามารถสร้างบ้านได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องแนบแผนผังบริเวณแสดงที่ตั้งของพื้นที่ และสำเนาเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมกับคำขอ ซึ่งรูปแบบบ้านที่สามารถสร้างได้โดยไม่ต้องขอในอนุญาตคือ อาคารที่อยู่อาศัยที่ไม่เกินสองชั้น และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นไม่เกิน 150 ตารางเมตร

แต่ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องขออนุญาต ละเว้น ไม่ทำการขออนุญาตจะต้องมีบทลงโทษโดยเริ่มจากสั่งให้หยุดการก่อสร้าง ห้ามเข้าพื้นที่ หากยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อ โดยไม่ทำการขออนุญาตจะถูกปรับวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะขออนุญาตให้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีโทษปรับและการจำคุกด้วย

ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านขอย้อนหลังได้ไหม

ใบอนุญาตก่อสร้างเป็นเอกสารที่แสดงว่าสามารถก่อสร้างบ้านได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งใบนี้จะต้องขอก่อนที่จะทำการปลูกสร้างบ้าน ในกรณีที่สร้างบ้านไว้นานแล้ว ในขณะนี้ต้องการขายบ้านหลังนี้ จึงต้องการใช้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าบ้านนั้นได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง แต่ใบอนุญาตหายจะไม่สามารถขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านย้อนหลังได้ ในกรณีเหล่านี้แม้จะไม่สามารถขอใบอนุญาตย้อนหลังได้ แต่เจ้าของบ้านสามารถขอเอกสารรับรองสิทธิสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ แต่จะต้องมีการระบุรายละเอียดต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้างให้มีความชัดเจน ทั้งขนาด จำนวนชั้น จำนวนห้อง พร้อมด้วยข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น 

ต่อเติมบ้านต้องขออนุญาตไหม

การต่อเติมบ้านนั้นหมายถึงการเพิ่มหรือลดส่วนต่างๆ ของบ้าน ซึ่งจำเป็นจะต้องทำการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก่อนเสมอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการประเมินว่าการต่อเติมนั้นส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านหรือไม่ หรือการต่อเติมนั้นทำให้น้ำหนักของตัวบ้านเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยหรือไม่ หากการต่อเติมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้ นอกจากนี้หากต่อเติมเพียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งการต่อเติมที่ไม่ต้องขออนุญาตมีดังนี้

  • ต่อเติมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของบ้าน แต่ต่อเติมไม่เกิน 5 ตารางเมตร ไม่จำเป็นต้องทำการขออนุญาต
  • เปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากเดิม แต่ใช้วัสดุชนิดเดิม แบบเดิม น้ำหนักเท่าเดิมทุกอย่าง
  • น้ำหนักที่ทำการต่อเติมไม่เกิน 10% ของน้ำหนักเดิม

สรุปบทความ

การก่อสร้างบ้านหรืออาคารต่างๆ นั้นจะต้องทำการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก่อนเสมอ โดยจะต้องแนบเอกสารต่างๆ ตามที่กฎหมายขออนุญาตก่อสร้างบ้านกำหนดไว้ ซึ่งหลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะใช้เวลาภายใน 45 วัน เพื่อตรวจสอบและออกใบอนุญาตก่อสร้างบ้านให้ หากเอกสารไม่ครบถ้วน หรือการขออนุญาตก่อสร้างบ้านไม่ผ่านเจ้าหน้าที่จะแจ้งเหตุผลให้ดำเนินการแก้ไข หลังจากได้รับใบอนุญาตก่อสร้างบ้านแล้วจึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างบ้านได้ ในกรณีที่ละเว้นไม่ขออนุญาต แล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถูกลงโทษตามกฏหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งมีตั้งแต่โทษปรับไปจนถึงการจำคุก ขึ้นอยู่กับความผิด

สำหรับผู้รับเหมา หรือเจ้าบ้านคนใดก็ตามที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเรียบร้อยแล้ว และกำลังมองหาวัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน Global House เป็นศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างครบวงจร ที่มีสินค้าให้เลือกมากมาย ทั้งวงกบ ประตูไม้สังเคราะห์ แผ่นฝ้าเพดาน หลังคา และปูนซีเมนต์ รวมถึงมีของตกแต่งบ้านให้เลือกหลากหลายสไตล์ รับรองได้ว่าคุณจะต้องพึงพอใจในสินค้าและบริการอย่างแน่นอน

คุ้มค่าไปอีกขั้นแค่ สมัครสมาชิกโกลบอลคลับ ฟรี พร้อมรับสิทธิพิเศษ สำหรับ สมาชิกโกลบอลคลับ เพียงช้อปครบ 50 บาท รับ 1 คะแนน สะสมโกลบอลคลับสะสมคะแนน เพื่อแลกเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ที่โกลบอลเฮ้าส์ทุกสาขา ทั่วประเทศ

  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 1,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 100 บาท
  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 9,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 1,000 บาท
  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม แลกซื้อเครื่องดื่ม ที่ลามายอนคอฟฟี่ทุกสาขา


Global House จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้าน ให้คุณครบจบในที่เดียว

เพื่อไม่ให้พลาดทุกโปรโมชันใหม่ๆ ทั้งสินค้าวัสดุก่อสร้าง หรือสินค้าตกแต่งบ้าน สามารถติดตามและสั่งซื้อสินค้า Global House ได้หลากหลายช่องทางที่

บริการช่างดี




เนื้อหาที่คล้ายกัน