img


ต่อเติมบ้านต้องขออนุญาตไหม ต่อเติมอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

ปัญหาบ้าน อาทิ บ้านหลังเก่า หลังเล็กเกินไป ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน จำนวนห้องไม่เพียงพอต่อสมาชิกในครอบครัว หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงสไตล์การตกแต่งบ้านให้น่าอยู่มากขึ้น การต่อเติมบ้านเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเปลี่ยนบ้านหลังเก่าให้น่าอยู่มากขึ้น ซึ่งก่อนที่จะทำการต่อเติมบ้านนั้น จำต้องรู้ข้อมูลและทำความเข้าใจให้ดีก่อน

สำหรับใครที่กำลังมีแพลนจะต่อเติมบ้านในอนาคต บทความนี้ Global House จะชวนทุกคนมาดูกันว่าการต่อเติมบ้านแบบใดต้องขออนุญาต หรือการต่อเติมบ้านแบบใดไม่ต้องทำการขออนุญาต พร้อมทั้งแชร์เคล็ดลับการต่อเติมบ้านให้ปลอดภัย ไม่มีพัง


ต่อเติมบ้านต้องขออนุญาตไหม

หลายๆคนอาจจะเข้าใจว่าการต่อเติมบ้านเป็นการเพิ่มจากส่วนเดิมที่มีอยู่ แต่จริงๆแล้วตามนิยามของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือเรียกว่า พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร นั้นกำหนดไว้ว่า “ดัดแปลง” หมายความรวมถึงการต่อเติม ลด หรือขยายขอบเขตของตัวอาคาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปทรง สัดส่วนของบ้าน และน้ำหนักของอาคารให้เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งการต่อเติมบ้านนั้นต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก่อน หากการต่อเติมบ้านอยู่ในกรณีเหล่านี้ 

    • ต่อเติมในส่วนของพื้นที่ใช้สอยเกิน 5 ตารางเมตร 

    • ต่อเติมบริเวณหลังคาเกิน 5 ตารางเมตร

    • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้าน ในส่วนที่เพิ่ม-ลดเสา หรือคานที่ต่างไปจากเดิม

    • ต่อเติมบ้านในกรณีที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมเกิน 10%


ต่อเติมบ้านแบบไหน ไม่ต้องขออนุญาต

อย่างที่ได้แนะนำไปเบื้องต้นว่าการต่อเติมบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 5 ตารางเมตร จำเป็นต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ในกรณีที่ต่อเติมบ้านเพียงเล็กน้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของตัวบ้าน ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่อาจจะแจ้งเพื่อนบ้านให้รับรู้ก่อน เพื่อให้เข้าใจว่าอาจจะเกิดเสียงดัง หรืออาจจะเกิดความไม่สะดวกในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับรูปแบบของการต่อเติมบ้านที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตมี ดังนี้

    • ต่อเติมบ้านในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างบ้าน และใช้วัสดุชนิดเดิม หรือวัสดุที่มีขนาดเบากว่าเดิม

   • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยใช้วัสดุเดิม ในกรณีที่มีการต่อเติมบ้านที่จำต้องเปลี่ยนโครงสร้างของบ้าน แต่ยังคงใช้วัสดุชนิดเดิม ขนาดเท่าเดิมสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการขออนุญาต เช่น การเปลี่ยนเสาไม้เดิม เป็นเสาไม้ใหม่ ที่วัสดุและน้ำหนักเท่าเดิม

    • การต่อเติม เพิ่มหรือลดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง และต้องไม่ทำให้น้ำหนักของโครงสร้างเดิมเพิ่มเกิน 10%

    • การดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 5 ตารางเมตร

    • การดัดแปลงบริเวณพื้นที่ของหลังคารวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร


สิ่งที่ต้องทำก่อนต่อเติมบ้าน



การต่อเติมบ้านเป็นเรื่องที่มีขั้นตอนและวิธีการไม่มาก เพื่อทำให้การต่อเติมบ้านเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ปลอดภัย ก่อนที่จะต่อเติมบ้านจำเป็นจะต้องศึกษาขั้นตอนการต่อเติมให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง และอยู่บ้านได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งสิ่งที่ต้องทำก่อนต่อเติมบ้านมีด้วยกันหลักๆ ดังนี้


1. มีใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

การต่อเติมบ้านในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้านจากเดิม ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของฐานบ้าน หรือการต่อเติมบ้านที่ส่งผลทำให้น้ำหนักของตัวบ้านมากขึ้น รวมถึงการต่อเติมที่เพิ่ม-ลดวัสดุจากเดิมจำเป็นจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นตามที่อยู่ที่บ้านหลังนั้นตั้งอยู่ก่อนเสมอ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินความปลอดภัย ว่าในส่วนที่ต้องการต่อเติมนั้นปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยหรือไม่ ซึ่งผู้ปกครองท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ก็จะมีตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไปในตามเขตพื้นที่การปกครอง  เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพ นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น


2. มีสถาปนิกและวิศวกรควบคุมการดำเนินการ

ในกรณีที่การต่อเติมบ้านอยู่ในส่วนที่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต โดยก่อนทำการขอใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะต้องมีการออกแบบแปลนบ้านที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิก เพื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาถึงความเหมาะสม และความปลอดภัยของการต่อเติมบ้าน รวมถึงในขั้นตอนการต่อเติมบ้านจะต้องมีวิศวกรควบคุมงานด้วย เพื่อให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพ ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และมีความปลอดภัย


3. แจ้งเพื่อนบ้านเพื่อขอความยินยอม

ก่อนจะทำการต่อเติมบ้านในส่วนใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมห้องครัวหลังบ้าน การทำผนังเพิ่มเติม หรือจะเป็นการเปลี่ยนพื้นบ้าน รวมถึงการทำหลังคาใหม่ ควรพูดคุย หรือแจ้งให้เพื่อนบ้านรอบๆ ทราบก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต และแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบว่าในระหว่างการก่อสร้างอาจมีปัญหาเรื่องเสียง ฝุ่น และกลิ่นบ้าง ที่สำคัญในกรณีที่การต่อผนังทึบที่จะชิดกับรั้วบ้านข้างๆ ควรขอเอกสารยินยอมแบบเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต


ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการต่อเติมบ้าน

แม้ว่าบ้านจะเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การจะต่อเติมบ้านในส่วนต่างๆ นั้นจะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย เพื่อการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน หรือคนในหมู่บ้านโดยไม่รุกล้ำพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งข้อกฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับการต่อเติมบ้านมีดังนี้


1. ห้ามต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ดิน

การสร้างบ้านนั้นจะต้องสร้างให้มีบริเวณรอบๆบ้าน เพื่อความปลอดโปร่ง และให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก หากต้องการต่อเติมบริเวณโดยรอบบ้าน จะต้องไม่ต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ดิน แต่จะต้องเว้นบริเวณรอบตัวอาคาร โดยอาคารที่สูงน้อยกว่า 15 เมตร จะต้องมีพื้นที่บริเวณรอบบ้านอย่างน้อย 1 เมตร แต่ในกรณีที่อาคารสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป จะต้องมีพื้นที่รอบๆ อย่างน้อย 2 เมตร ส่วนบริเวณระหว่างตัวบ้านกับเขตที่ดินของตัวเองจะต้องมีที่ว่างอย่างน้อย 30% เพื่อไม่ให้ตัวอาคารมีความใกล้ชิดกับบ้านข้างๆมากเกินไป หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีช่องทางในการหนีได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถ้าบ้านติดกันมากเกินไปไฟจะลามได้เร็ว และพนักงานดับเพลิงอาจไม่สามารถเข้าดับเพลิงได้ทันท่วงที ดังนั้นไม่ควรต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ดิน เพื่อความปลอดภัยของการอยู่อาศัย


2. ระยะย่น ระยะห่าง

ระยะย่น คือการวัดระยะห่างระหว่างตัวอาคารกับทางสาธารณะ โดยการวัดระยะย่นนั้น เริ่มวัดตั้งแต่ทางสาธารณะเข้ามาจนถึงตัวอาคาร โดยไม่รวมขอบเขตสิ่งปลูกสร้างของอาคาร ซึ่งการวัดระยะย่นระยะห่างนั้นจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของอาคาร ซึ่งการต่อเติมบ้านจจะต้องคำนึงถึงระยะย่นที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

    • ระยะห่างระหว่างอาคารที่สูงเกินสองชั้น หรือความสูงเกิน 8 เมตร ในกรณีที่ต้องการต่อเติมบ้านมีข้อกำหนดดังนี้

        ◦  หากถนนสาธารณะมีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ระยะย่นห่างจากกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 3 เมตร

        ◦ หากถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ระยะย่นห่างจากกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 6 เมตร

        ◦  หากถนนสาธารณะกว้างตั้งแต่ 10 เมตร แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ระยะย่นห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างถนนสาธารณะ

        ◦  หากถนนสาธารณะกว้างมากกว่า 20 เมตร ให้ระยะย่นห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 2 เมตร

    • ระยะห่างระหว่างผนังอาคารที่มีช่องระบายลม หน้าต่าง ประตู หรือระเบียงจะต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินดังนี้

        ◦ อาคารที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังจะต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร

        ◦ อาคารที่สูงเกิน 9 เมตร แต่สูงไม่ถึง 23 เมตร ผนังจะต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร

        ◦ ในกรณีที่เป็นอาคารผนังทึบจะต้องเว้นระยะห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

    • ระยะห่างระหว่างชายคา กันสาด อาคารที่ต้องการต่อเติมจะต้องมีส่วนที่ต่ำที่สุดของกันสาดสูงจากระดับทางเท้าไม่น้อยกว่า 3.25 เมตร

    • ระยะห่างของการต่อเติมระเบียงชั้นบนจะต้องมีแนวระยะห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร


ขั้นตอนขออนุญาตต่อเติมบ้าน

    

    1. ติดต่อเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ในพื้นที่ที่บ้านหลังนั้นตั้งอยู่

    2. ยื่นแบบฟอร์มขออนุญาตการต่อเติมบ้านตามที่กฎหมาย ดังนี้

        a. แบบแปลนบ้าน พร้อมด้วยรายการประกอบแบบแปลน

        b. สำเนาโฉนดที่ดิน

        c. หนังสือแสดงความยินยอมจากเพื่อนบ้านว่าให้ต่อเติมบ้านชิดเขตที่ดิน

   3. พนักงานปกครองท้องถิ่นจะตรวจพิจารณาคำขอ และออกใบอนุญาตให้ภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ แต่ในกรณีที่เอกสารไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะทำการแจ้งเหตุผลให้ทราบภายใน 45 วัน เพื่อให้ทำการแก้ไขเอกสาร พร้อมทั้งส่งเอกสารใหม่ และจะได้รับใบอนุญาตภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารในการแก้ไข

   4. หลังจากได้รับในอนุญาต ก่อนเริ่มงานจะต้องทำการส่งหนังสือแจ้งผู้ควบคุมงาน พร้อมด้วยวันเริ่ม-สิ้นสุดการก่อสร้างให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบ


จุดยอดนิยมของการต่อเติมบ้าน

เหตุผลในการต่อเติมบ้านของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการใช้งาน บางคนต่อเติมบ้านเนื่องจากสมาชิกในบ้านมากขึ้น ต้องการปรับปรุงห้องที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อรองรับสมาชิกที่มากขึ้น บางครั้งการต่อเติมบ้านก็เป็นการเพิ่มฟังก์ชันในการใช้งาน ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ให้มากขึ้น ซึ่งจุดที่เป็นที่นิยมในการต่อเติมบ้านมีด้วยกันหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นโรงจอดรถ ห้องน้ำ ห้องครัว และพื้นที่หน้าบ้าน



1. โรงจอดรถ

เมื่อมีจำนวนรถเพิ่มขึ้น พื้นที่จอดเดิมอาจไม่เพียงพอ จึงต้องต่อเติมบ้านเพิ่มพื้นที่โรงจอดรถ เพื่อรองรับจำนวนรถที่มากขึ้น ซึ่งการต่อเติมโรงจอดรถจะต้องคำนวนพื้นที่ให้มีความเหมาะสม จอดรถได้ง่าย อีกทั้งควรเผื่อพื้นที่รอบ ๆ เพื่อการเข้า-ออกรถที่สะดวก และการขนย้ายของเข้าบ้านง่ายขึ้น หากมีการใช้รถไฟฟ้า การต่อเติมหลังคาจอดรถโซลาเซลล์ก็จะช่วยให้ประหยัดไฟได้ด้วย



2. ห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นอีกหนึ่งห้องภายในบ้านที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ และเด็ก ควรรีโนเวทห้องน้ำโดยแยกโซนเปียกและโซนแห้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน พร้อมทั้งเลือกกระเบื้องปูพื้นที่ไม่ลื่นจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน



3. ห้องครัว

ห้องครัวเป็นอีกหนึ่งจุดยอดนิยมในบ้านที่หลาย ๆ คนมักจะทำการต่อเติม เพื่อให้การทำครัวนั้นมีความสะดวกมากขึ้น แต่การต่อเติมครัวควรคำนึงถึงการใช้งาน และความปลอดภัยในการติดตั้งระบบสาธารณูปโภค พร้อมทั้งควรเลือกใช้เตาแก๊ส เตาไฟฟ้าที่ได้มาตราฐาน และมีคุณภาพ นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงทิศทางแสงแดด สายลม เพื่อไม่ให้ห้องครัวมีความอับชื้นมากเกินไป และช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก



4. พื้นที่หน้าบ้าน

สำหรับพื้นที่หน้าบ้าน เป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวได้ ซึ่งการต่อเติมพื้นที่หน้าบ้านจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวอาจจจะปูหญ้าเทียมเพื่อความสวยงาม หรือทำเป็นลานกีฬาสำหรับลูกๆ แต่อย่างไรก็ตามควรเลือกใช้วัสดุในการต่อเติมที่มีความแข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน


ต่อเติมบ้านอย่างไรให้บ้านไม่พัง

ก่อนต่อเติมบ้านต้องมีการออกแบบ และวางแผนการทำงานอย่างรอบครอบ มีการควมคุมงานจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การต่อเติมบ้านมีความถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุด บ้านพังตามมาทีหลัง ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปเพื่อให้การต่อเติมบ้านมีประสิทธิภาพ ไม่พังมีดังนี้

1. พิจารณาบริเวณที่ต้องการต่อเติม

ก่อนต่อเติมบ้านนอกจากความเหมาะสมในการใช้งานแล้ว ต้องพิจารณาด้วยว่าบริเวณที่ต้องการต่อเติมนั้นจะเพิ่มน้ำหนักให้ตัวบ้าน จนส่งผลต่อโครงสร้างของบ้านหรือไม่ เพราะบริเวณบ้านบางส่วนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักมาก ๆ หากต่อเติมโดยไม่คำนึงถึงโครงสร้าง อาจทำให้เกิดปัญหาบ้านแตกร้าว รั่วซึมตามมาได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาบริเวณพื้นดินรอบ ๆ บ้านร่วมด้วยว่ามีลักษณะเช่นไร ต่อเติมไปแล้วจะทำให้บ้านทรุดหรือไม่ 

2. ปรึกษาสถาปนิกและวิศวกร

การต่อเติมบ้านเป็นการดัดแปลง เพิ่มหรือลดส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านจากเดิมที่มีการออกแบบ และคำนวณไว้อย่างดีแล้ว ดังนั้นก่อนที่จะทำการต่อเติมบ้านจึงควรปรึกษาสถาปนิก หรือวิศวกรที่มีความชำนาญทั้งในเรื่องของการออกแบบ และการควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อขอคำแนะนำว่าควรต่อเติมบ้านอย่างไรให้มีความมั่นคง ปลอดภัย ไม่กระทบต่อโครงสร้างเดิม

3. เลือกโครงสร้างพื้นบ้านให้เหมาะสม

โครงสร้างพื้นบ้าน คือ ส่วนฐานที่รองรับน้ำหนัก และช่วยยึดโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้านบริเวณใต้ดินกับบนดินเข้าด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นตัวช่วยที่ทำให้บ้านมีความมั่นคง และแข็งแรง ดังนั้นก่อนที่จะทำการต่อเติมบ้านจะต้องดูโครงสร้างพื้นบ้านเดิมว่ามีความแข็งแรงพอที่จะต่อเติมได้ขนาดไหน เพราะการต่อเติมบ้านนั้นมีทั้งแบบการต่อเติมเข้ากับโครงสร้างเดิม และการต่อเติมแยกจากโครงสร้างบ้านเดิม ซึ่งการที่จะต่อเติมบ้านไม่มีให้มีความแข็งแรงนั้น จำเป็นจะต้องให้วิศวกรคำนวณขนาดและวัสดุที่จะใช้ในการต่อเติมว่าแบบใดมีความเหมาะสมกับโครงสร้างเดิมมากที่สุด

4. ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ

การเลือกวัสดุที่เหมาะสม และมีคุณภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การต่อเติมบ้านมีความแข็งแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเดิม ซึ่งการเลือกวัสดุที่ใช้ในการต่อเติมบ้านจะต้องให้เหมาะสมกับการใช้งาน น้ำหนักของวัสดุไม่ส่งผลต่อโครงสร้างเดิม ที่สำคัญควรเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยให้มีความปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยอีกด้วย 


สรุปบทความ

การต่อเติมบ้านนั้นหมายถึงการดัดแปลงบ้านจากเดิม รวมถึงการเพิ่ม-ลดองค์ประกอบต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเสา การทำผนังใหม่ การเปลี่ยนพื้นบ้าน ซึ่งการต่อเติมบ้านนั้นมีการกำหนดไว้ว่าหากต่อเติมในส่วนของพื้นที่ใช้สอย หรือต่อเติมบริเวณหลังคาเกิน 5 ตารางเมตร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้าน ในส่วนที่เพิ่ม-ลดเสา หรือคานที่ต่างไปจากเดิม และการต่อเติมบ้านในกรณีที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมเกิน 10% จะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่บ้านหลังนั้นตั้งอยู่ แต่ในกรณีที่ต่อเติมบ้านเพียงเล็กน้อย ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต นอกจากจะคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การต่อเติมบ้านควรพิจารณาบริเวณที่ต่อเติมด้วยว่าเหมาะกับกับโครงสร้างบ้านเดิมหรือไม่ ที่สำคัญควรเลือกวัสดุที่ใช้ให้มีคุณภาพ เพื่อความเหมาะสม ปลอดภัยของการอยู่อาศัย



คุ้มค่าไปอีกขั้นแค่ สมัครสมาชิกโกลบอลคลับ ฟรี พร้อมรับสิทธิพิเศษ สำหรับ สมาชิกโกลบอลคลับ เพียงช้อปครบ 50 บาท รับ 1 คะแนน สะสมโกลบอลคลับสะสมคะแนน เพื่อแลกเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ที่โกลบอลเฮ้าส์ทุกสาขา ทั่วประเทศ

    • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 1,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 100 บาท

    • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 9,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 1,000 บาท

    • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม แลกซื้อเครื่องดื่ม ที่ลามายอนคอฟฟี่ทุกสาขา


Global House จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้าน ให้คุณครบจบในที่เดียว

เพื่อไม่ให้พลาดทุกโปรโมชันใหม่ๆ ทั้งสินค้าวัสดุก่อสร้าง หรือสินค้าตกแต่งบ้าน สามารถติดตามและสั่งซื้อสินค้า Global House ได้หลากหลายช่องทางที่

Facebook: Global House โกลบอลเฮ้าส์

Line@: @globalhouse

TikTok: globalhouseofficial

App Click&Collect


บริการช่างดี

App ช่างดี

Web ช่างดี บริการติดตั้ง

Facebook: ChangDeeService

Line Official: @Changdee




เนื้อหาที่คล้ายกัน