img


Checklist 10 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ไม่ต้องจ้างแพง

ก่อนที่จะเซ็นรับบ้าน เจ้าของบ้านควรตรวจสอบความเรียบร้อยต่างๆ ภายในบ้านอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างของบ้าน และระบบต่างๆ ภายในบ้านสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองนั้นสามารถทำได้เพียงบางจุดเท่านั้น ในบางจุดเป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถ จำเป็นจะต้องให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะมีเครื่องมือในการตรวจอย่างครบครัน อีกทั้งยังมีความชำนาญในการตรวจ ช่วยให้เราทราบถึงปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งการตรวจรับบ้านจะตรวจในส่วนใดบ้าง วันนี้ Global House จะพาไปดูกัน 

การตรวจรับบ้านคืออะไร


การตรวจรับบ้าน (Home Inspection) เป็นการตรวจระบบต่างๆ ภายในบ้าน รวมถึงตรวจความเรียบร้อยของโครงสร้างบ้าน ว่ามีปัญหาในจุดใดหรือไม่ โดยในขั้นตอนการตรวจรับบ้านนั้น จะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจรายละเอียดต่างๆ เพื่อประเมินว่าบ้านนั้นมีความบกพร่อง หรือเสียหายหรือไม่ หากพบปัญหาในขั้นตอนนี้ เราสามารถปฏิเสธการเซ็นรับบ้าน และแจ้งทางโครงการ เพื่อเข้ามาซ่อมแซม และแก้ไขก่อนได้ 

เราสามารถตรวจรับบ้านได้ตอนไหน

การตรวจรับบ้านนั้นสามารถทำได้เมื่อบ้านสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ของโครงการจะมีการติดต่อเข้ามา เพื่อนัดหมายในการตรวจรับบ้าน ซึ่งการตรวจรับบ้านนั้นสามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง หรือใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจก็ได้ หากบ้านมีความเรียบร้อยไม่มีปัญหาก็สามารถเซ็นรับ เพื่อเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่ในกรณีที่บ้านมีปัญหา ไม่เป็นไปตามแบบที่ควรจะเป็น เราสามารถแจ้งโครงการให้เข้ามาทำการแก้ไข ก่อนทำการตรวจอีกครั้ง และโอนกรรมสิทธิ์ได้ 

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับตรวจรับบ้าน


การตรวจรับบ้านนั้นจะต้องมีการตรวจสอบในหลายๆ จุด ทั้งระบบไฟ ระบบประปา พื้น ผนัง และฝ้า รวมถึงโครงสร้างในส่วนต่างๆ ด้วย ในกรณีที่ต้องการตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ เพื่อช่วยให้การตรวจนั้นง่ายขึ้น ซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีดังนี้

  • กล้องถ่ายรูป เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเก็บภาพความเสียหาย หรือบันทึกสิ่งที่ต้องการแจ้งช่าง เพื่อทำการแก้ไข
  • สมุดและปากกา เพื่อใช้สำหรับการจดบันทึกปัญหา และประเด็นต่างๆ ที่ตรวจเจอ และต้องการแจ้งโครงการ เพื่อทำการแก้ไข
  • แปลนบ้าน การมีแปลนบ้านระหว่างการตรวจรับบ้าน จะช่วยให้เราสามารถตรวจบ้านได้อย่างเป็นระเบียบ ไม่ทำให้งงว่าส่วนไหนตรวจแล้ว ส่วนไหนยังไม่ได้ตรวจ และสามารถตรวจได้ครบทุกจุด โดยไม่พลาด
  • ตลับเมตรหรือสายวัด เพื่อใช้วัดส่วนต่างๆ ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน และแบบแปลนที่แจ้งหรือไม่ 
  • เทปกาว หรือโพสท์อิท ใช้สำหรับมาร์กจุดที่มีปัญหา หรือมาร์กในจุดที่ต้องการแก้ไข
  • ไฟฉาย ใช้สำหรับส่องพื้นผิวต่างๆ เช่น ฝ้า ผนัง พื้น เพื่อตรวจความเรียบร้อยว่ามีรอยแตกร้าวหรือไม่
  • บันได เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจรับบ้านในบริเวณที่สูงๆ เหนือระดับสายตา จำเป็นต้องใช้บันได เพื่อปีนขึ้นไปตรวจสอบความเรียบร้อย เช่นบนฝ้าเพดาน 
  • ดินน้ำมัน หรือถุงพลาสติก ใช้สำหรับตรวจระบบน้ำ โดยนำไปอุดรูระบาย เพื่อเช็กว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่
  • ถังน้ำ หรือสายยาง  ใช้สำหรับหารอยรั่วซึมตามขอบประตู และหน้าต่าง โดยจะต้องสาดน้ำไปบริเวณประตู และหน้าต่าง เพื่อดูว่ามีน้ำรั่วซึมตามขอบประตู หน้าต่างหรือไม่
  • กระจก บริเวณขอบประตูด้านบนถือเป็นจุดอับ ที่มองได้ยาก จึงจำเป็นจะต้องใช้กระจก เพื่อส่องดูความเรียบร้อย
  • ไม้ หรือค้อนหัวยาง เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ตรวจรับบ้านที่ใช้เคาะพื้นกระเบื้อง ว่ามีการปูที่แน่นหนาหรือไม่ หากเกิดเสียงดังไม่เท่ากัน อาจเกิดจากการปูกระเบื้องไม่แน่น หรือเกิดโพรงด้านใน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้กระเบื้องหลุด หรือแตกได้
  • ไม้บรรทัด ใช้สำหรับการวัดแนวระนาบว่ามีความสมดุล ไม่เอียง
  • ไขควงวัดไฟ ใช้สำหรับตรวจปัญหาไฟรั่ว เมื่อปิดไฟทั้งหมด พร้อมด้วยตัดระบบไฟแล้ว หากนำไขควงวัดไฟไปวัด ไฟจะขึ้นหรือไม่ หากไฟขึ้นแสดงว่าระบบไฟภายในบ้านมีปัญหาไฟรั่ว

10 จุดสำคัญที่ต้องดูเมื่อตรวจรับบ้าน

การตรวจรับบ้านเป็นขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบส่วนต่างๆ ของบ้านอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาหลังเซ็นรับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการตรวจรับบ้านมีจุดสำคัญที่ต้องตรวจ ดังนี้

1. หลังคา

การตรวจสอบหลังคาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หากไม่มีความชำนาญการปีนขึ้นไปตรวจหลังก็เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการตรวจหลังคาบ้าน ให้ตรวจสอบฝ้าเพดานที่อยู่ด้านล่าง ว่ามีการปูหลังคาเรียบเนียนทุกแผ่น ไม่มีรอยแหว่ง หรือช่องโหว่ ในกรณีที่มีการทาสีกระเบื้องปูหลังคาก็ควรเช็กให้ดีว่าเก็บงานเรียบร้อย ไม่มีคราบสกปรก นอกจากนี้หากเป็นไปได้ให้ลองฉีดน้ำขึ้นหลังคา เพื่อหารอยรั่วซึม พร้อมดูด้วยว่าวัสดุที่ใช้นั้นตรงตามที่ตกลงกันเอาไว้หรือไม่ หากไม่ตรง เราสามารถแจ้งโครงการเพื่อทำการแก้ไข แล้วตรวจรับบ้านใหม่อีกครั้งได้ 

2. ประตู

การตรวจสอบประตู เป็นอีกหนึ่งจุดในการตรวจรับบ้านที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีการตรวจง่ายๆ สามารถทำได้โดยลองเปิด-ปิดประตู เพื่อดูการทำงานว่าปิดได้สนิทไหม ประตูมีการครูดไปกับพื้นหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบวงกบ และสปริงต่างๆ ว่าเรียบร้อย ไม่มีส่วนเกินมา สำหรับการตรวจประตูนั้นสามารถใช้ได้กับประตูทุกบานภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประตูห้องน้ำ หน้าต่างภายในบ้าน และประตูรั้ว เป็นต้น

3. โครงสร้างบ้าน

โครงสร้างบ้านเป็นส่วนที่ช่วยให้บ้านนั้นมีความมั่นคง และแข็งแรง แต่การจะตรวจโครงสร้างบ้านทั้งหมดอาจเป็นเรื่องยาก เพราะในบางจุดก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการตรวจรับบ้าน ในส่วนของการตรวจโครงสร้างบ้าน ให้ตรวจความเรียบร้อยของผนังบ้าน เสาบ้าน และพื้นบ้าน ว่ามีความเรียบร้อยดี ไม่มีรอยแตกร้าว หรือโป่งพอง

4. พื้น

อีกหนึ่งจุดสำคัญในการตรวจรับบ้านคือการตรวจสอบพื้น ซึ่งพื้นแต่ละชนิดก็จะมีการตรวจสอบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการปูพื้น 

  • กระเบื้อง ให้เคาะกระเบื้องทุกแผ่น โดยเคาะให้ทั่วทั้งแผ่น หากเกิดเสียงกลวงๆ ไม่แน่น แสดงว่ามีโพรงใต้กระเบื้อง หรือปูนกาวปูกระเบื้องไม่แน่น เสี่ยงต่อการแตกหักได้ในอนาคต นอกจากนี้ควรตรวจด้วยว่ากระเบื้องมีรอยร้าว หัก บิ่นหรือไม่
  • ปูนเปลือย ในบ้านที่ออกแบบด้วยสไตล์ลอฟ การเลือกใช้พื้นปูนเปลือยจะช่วยให้ตัวบ้านมีความเท่มากขึ้น ซึ่งการพื้นปูนเปลือยจะต้องตรวจสอบว่ามีการเทปูนเอียงหรือไม่ มีรอยแตกร้าวเกิดขึ้นที่พื้นหรือไม่
  • การปูพื้นลามิเนต ตรวจสอบรอยต่อว่าต่อได้อย่างสนิท มีความเรียบเนียน ไม่พอง

5. ผนัง

การตรวจผนังให้เริ่มต้นจากการตรวจรอยร้าวต่างๆ ทั้งรอยแตกลายงา และรอยร้าวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาเหล่านี้ อาจทำให้เกิดน้ำรั่วซึมได้ในช่วงฤดูฝน และรอยร้าวบางชนิดยังเสี่ยงทำให้โครงสร้างบ้านเสียหายได้อีกด้วย นอกจากนี้ควรตรวจการทาสีผนังด้วยว่ามีความเรียบเนียม ไม่มีคราบสกปรกใดๆ หรือในกรณีที่ติดวอลล์เปเปอร์ ให้ดูรอยต่อว่ามีความเรียบเนียน หรือเกิดความชื้น เชื้อราหรือไม่ 

6. ฝ้าเพดาน

ฝ้าเพดานเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญในการตรวจรับบ้าน สำหรับการตรวจสอบฝ้าเพดานสามารถทำได้ด้วยการดูรอยต่อของฝ้าว่ามีความเรียบเนียนหรือไม่ หากฝ้าติดตั้งไม่เรียบร้อย รอยต่อเหลื่อมกัน ต่อไม่สนิท อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วได้ในอนาคต

7. ระบบไฟฟ้า

ระบบไฟฟ้าภายในบ้านเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญในการตรวจรับบ้าน และตรวจอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะหากตรวจไม่ดี แล้วเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาไฟรั่ว ไฟช็อต จนเป็นอันตรายต่อผู้ที่ใช้งานได้ ซึ่งการตรวจระบบไฟฟ้านั้นมีการตรวจในหลายๆ ส่วน ดังนี้

  • ตรวจการทำงานของไฟในบ้าน โดยการเปิดไฟส่องสว่างทุกๆ ดวงภายในบ้าน และลองใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่
  • ตรวจเต้ารับในจุดต่างๆ ว่าสามารถใช้งานได้ปกติ
  • การเดินสายไฟ หากเลือกการเดินสายไฟแบบลอย ให้ดูในจุดต่างๆ ว่าต่ออย่างเรียบร้อย สายไฟไม่พันกัน
  • ตรวจหาไฟรั่ว การตรวจหาไฟรั่วสามารถทำได้ 2 แบบคือ การใช้เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) เพื่อทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ไขควงวัดไฟ ตรวจไฟรั่วได้เช่นกัน โดยปิดระบบไฟทั้งหมด แล้วนำไขควงวัดไฟไปเช็กว่ายังมีกระแสไฟในระบบหรือไม่ หากมีกระแสไฟแสดงว่ามีปัญหาไฟรั่ว
  • ตู้ไฟ การตรวจตู้ไฟเป็นเรื่องที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบว่ามีการเดินสายไฟ รวมถึงการเลือกขนาด และประเภทของสายไฟถูกต้องหรือไม่

 8. ระบบน้ำประปา

อีกหนึ่งจุดสำคัญในการตรวจรับบ้าน คือ การตรวจระบบน้ำประปาภายในบ้าน สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเปิดก๊อกน้ำทุกๆ จุด เพื่อดูว่าน้ำไหลปกติ สามารถใช้งานได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังควรกดชักโครกทั้งชั้นบน และชั้นล่าง เพื่อดูแรงดันของน้ำว่าส่งถึงชั้นสองหรือไม่ ที่สำคัญจะต้องตรวจการทำงานของปั๊มน้ำว่าขณะที่เปิดน้ำ ปั๊มมีการทำงานปกติดีไหม ในกรณีที่ปิดน้ำปั๊มก็จะต้องหยุดทำงานตามไปด้วย หากปิดน้ำในทุกๆ จุดแล้ว ปั๊มยังทำงาน แสดงว่าอาจเกิดปัญหาน้ำรั่ว

9. หน้าต่าง

การตรวจรับบ้านจะต้องไม่ลืมตรวจการทำงานของหน้าต่างด้วย ซึ่งการตรวจก็มีความคล้ายคลึงกับการตรวจประตู โดยลองเปิด-ปิดหน้าต่างว่าสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ มีปัญหาฝืด หรือติดขัดในส่วนใดบ้าง นอกจากนี้ควรตรวจด้วยว่าหน้าต่างปิดได้สนิท เข้ากับวงกบได้ดี ไม่มีช่องว่างหรือรอยโหว่เกิดขึ้น

10. บันได

สำหรับจุดในการตรวจรับบ้านจุดสุดท้ายคือการตรวจสอบบันไดของบ้าน ซึ่งจะต้องตรวจสอบด้วยกันสองส่วน สำหรับในส่วนแรกต้องตรวจสอบว่าราวบันไดว่ามีการติดตั้งอย่างแน่นหนา ไม่โยกไม่เอียง อยู่ในจุดที่สามารถจับได้อย่างถนัดมือ และในส่วนที่สองจะต้องตรวจสอบพื้นบันไดว่าในแต่ละขั้นมีระยะห่างที่เท่ากัน พื้นเรียบสนิท เพื่อช่วยให้มีการใช้งานที่ปลอดภัย

หากพบเจอส่วนที่ไม่สมบูรณ์ควรทำอย่างไร

เมื่อทำการตรวจรับบ้านในจุดต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว หากพบปัญหาควรถ่ายรูป พร้อมทั้งจดบันทึกปัญหาที่พบไว้ เพื่อแจ้งกับโครงการต่อ โดยทางโครงการจะมีการดำเนินการโดยส่งช่างเข้ามา เพื่อแก้ไขในจุดต่าง ๆ หลังจากนั้นเราจึงจะต้องทำการตรวจอีกครั้งว่าแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างที่ยังแก้ไขบ้านในส่วนที่บกพร่อง เรายังไม่ต้องเซ็นรับบ้าน การจะเซ็นรับบ้านจะต้องทำต่อเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย สมบูรณ์แล้วเท่านั้น

สรุปบทความ

การตรวจรับบ้านเป็นการตรวจความเรียบร้อยในจุดต่าง ๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโครงสร้างของบ้าน ผนังบ้าน พื้นบ้าน และเสาบ้าน รวมถึงการตรวจระบบน้ำภายในบ้าน และระบบไฟฟ้าภายในว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ ในกรณีที่เจอปัญหาให้จดบันทึก และถ่ายรูปจุดที่ต้องการแก้ไข แล้วส่งเรื่องให้กับโครงการต่อไป เพื่อให้โครงการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเซ็นรับบ้าน สำหรับใครที่กำลังมองหาอุปกรณ์ในการตรวจรับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตลับเมตร ไขควงวัดไฟ สายวัด ไฟฉาย หรือไม้บรรทัด ที่ Global House เป็นศูนย์รวมวัสดุก่อสร้าง ที่มีสินค้าคุณภาพให้คุณได้เลือกซื้อมากมาย รวมถึงมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจบ้านที่มีความทันสมัย และได้มาตรฐาน ช่วยให้การตรวจบ้านเป็นไปอย่างได้ประสิทธิภาพ

คุ้มค่าไปอีกขั้นแค่ สมัครสมาชิกโกลบอลคลับ ฟรี พร้อมรับสิทธิพิเศษ สำหรับ สมาชิกโกลบอลคลับ เพียงช้อปครบ 50 บาท รับ 1 คะแนน สะสมโกลบอลคลับสะสมคะแนน เพื่อแลกเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ที่โกลบอลเฮ้าส์ทุกสาขา ทั่วประเทศ

  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 1,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 100 บาท
  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 9,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 1,000 บาท
  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม แลกซื้อเครื่องดื่ม ที่ลามายอนคอฟฟี่ทุกสาขา


Global House จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้าน ให้คุณครบจบในที่เดียว

เพื่อไม่ให้พลาดทุกโปรโมชันใหม่ๆ ทั้งสินค้าวัสดุก่อสร้าง หรือสินค้าตกแต่งบ้าน สามารถติดตามและสั่งซื้อสินค้า Global House ได้หลากหลายช่องทางที่

บริการช่างดี




เนื้อหาที่คล้ายกัน