img


ระบบน้ำประปาภายในบ้าน เรื่องสำคัญควรเข้าใจ ตอนที่ 2: ท่อน้ำดีหรือท่อประปาในบ้าน


มื่อทราบถึงระบบน้ำดีที่เหมาะสมกับบ้านของเราไปในตอนที่แล้ว ลำดับถัดมาจะพูดถึงท่อน้ำดีประเภทต่างๆ กันค่ะ ท่อประปาหรือท่อน้ำดี ทำหน้าที่จ่ายน้ำดีไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน โดยทั่วไประบบประปาในบ้านพักอาศัยมักใช้เป็นท่อขนาด ¾ นิ้ว และท่อแยกเข้าสุขภัณฑ์ต่างๆ จะใช้เป็นท่อขนาด ½ นิ้ว ในอดีต ท่อประปามักใช้เป็นท่อเหล็กอาบสังกะสี ก่อนจะพัฒนามาเป็นท่อพีวีซี (ท่อ PVC) ที่นิยมใช้โดยทั่วไป ทั้งนี้ ก่อนจะเลือกใช้ท่อประปาควรมีความเข้าใจเบื้องต้น ทั้งเรื่องของประเภทท่อ และการเดินท่อ ดังนี้

ท่อน้ำดีประเภทต่างๆ

1. ท่อพลาสติก จจุบันแบ่งได้หลายประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ได้แก่
- ท่อ PVC (Poly Vinyl Chloride) นิยมใช้ทั่วไปสำหรับท่อน้ำประปาในอุณหภูมิปกติ อย่างระบบน้ำดื่มหรืองานท่อต่างๆ มีขนาดและความหนาให้เลือกตามระดับการรับแรงดัน แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดสำหรับท่อพีวีซีคือไม่สามารถทนต่อแรงกระแทก ความดันและอุณหภูมิสูงๆ ได้ จึงเหมาะสำหรับใช้ภายในอาคารกับสภาพน้ำในอุณหภูมิปกติ
- ท่อ PP-R (Random Copolymer Polypropylene) มีคุณสมบัติ เด่น คือทนอุณหภูมิได้สูงถึง 95 องศา และแรงดันได้สูง ถึง 20 บาร์ รวมถึงมีการเชื่อมรอยต่อด้วยความร้อนให้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงป้องกันการรั่วซึมได้ดี อย่างไรก็ตาม ท่อชนิดนี้ไม่เหมาะกับการติดตั้งบริเวณใต้พื้นดินเนื่องจากไม่สามารถทนแรงกระแทกได้ดีนัก
- ท่อโพลีเอทิลีน หรือท่อ PE (Poly Ethylene) หรือ บางท่านเรียกว่าท่อเอชดีพีอี (HDPE) มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี ทนต่อแรงกระแทก และแสงอาทิตย์ นิยมใช้เป็นท่อน้ำดื่ม เพราะมีความยืดหยุ่นสูงและดัดโค้งงอได้ สามารถใช้ภายนอกอาคารหรือฝังดินก็ได้เช่นกัน

2. ท่อโลหะ ที่ยังมีใช้ในปัจจุบันคือ ท่อเหล็กและท่อทองแดง โดยมีการนำมาผสมกับสารชนิดอื่นเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติ เช่น ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี เพื่อลดปัญหาการเกิดสนิม เป็นต้น เหมาะกับการใช้เป็นท่อน้ำร้อน เพราะโลหะมีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูง ทั้งนี้ควรเลือกใช้ชนิดความหนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน

สำหรับระบบน้ำอุ่นและน้ำร้อนที่ใช้ในห้องน้ำ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างมากนั้น ควรเลือกใช้ ท่อ PP-R ท่อเหล็ก หรือท่อทองแดงก็ได้

การเดินท่อประปาภายในบ้าน

การเดินท่อประปาหรือท่อน้ำดีภายในบ้านเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรพิจารณา เพราะนอกจากจะส่งผลต่อเรื่องความสวยงามของพื้นที่แล้ว ยังส่งผลกับการเตรียมพื้นที่หน้างานและการบำรุงรักษาในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ การเดินท่อประปาภายในบ้าน จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. การเดินท่อแบบลอยตัว คือ การเดินท่อลอยโดยติดกับผนังหรือเพดาน ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน ซ่อมบำรุงง่าย เหมาะกับบ้านที่ต้องการติดตั้งงานระบบเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากเรื่องการสกัดผนังสำหรับติดตั้งท่อ การเดินท่อชนิดนี้ดูเข้ากันกับบ้านสไตล์ loft ที่ต้องการแสดงให้เห็นโครงสร้างของวัสดุอย่างชัดเจน หรือถ้าอยากตกแต่งให้ท่อมีความกลมกลืนกับผนังบ้าน ก็สามารถทาสีทับตัวท่อได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวอาจไม่เป็นที่ชื่นชอบสำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการความเรียบร้อยในงานตกแต่ง นอกจากนี้อาจเกิดเสียงรบกวนจากน้ำที่วิ่งผ่านท่อได้ด้วย

2. การเดินท่อแบบฝังภายในพื้นหรือผนัง คือ การเจาะสกัดผนังหรือพื้นเพื่อเดินท่อน้ำดี ก่อนจะฉาบปูนทับ การติดตั้งชนิดนี้ทำให้บ้านดูเรียบร้อยและสวยงาม แต่จะซ่อมแซมและบำรุงรักษายาก จึงควรทำการเตรียมพื้นที่ไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อจะได้ไม่ต้องมาสกัดผนังหรือพื้นในภายหลัง ทั้งนี้ เจ้าของบ้านสามารถแจ้งผู้ออกแบบให้ออกแบบช่องเซอร์วิสหรือช่อง shaft เพื่อรวมท่อต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วยังง่ายต่อการซ่อมบำรุงอีกด้วย

อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว เจ้าของบ้านทุกท่านคงจะได้ทำความรู้จักกับระบบการจ่ายน้ำทั้งสองประเภทได้มากขึ้น รวมถึงสามารถเลือกท่อประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ไม่ยาก แต่ระบบน้ำดียังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในตอนหน้าเราจะมาดูวิธีเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะกับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมิเตอร์วัดน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือจะเป็นเครื่องสูบน้ำ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบกับปัญหาคาใจทั้งหลายได้ในตอนหน้านะคะ

Credit ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก : https://www.scgbuildingmaterials.com




เนื้อหาที่คล้ายกัน