img


แจกเช็กลิสต์ วิธีตรวจสอบ และซ่อมรอยรั่วในห้องน้ำ

รอยรั่วในห้องน้ำ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน เพราะไม่ว่าจะก่อสร้างหรือติดตั้งสุขภัณฑ์ดีเพียงใด แต่หากมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง วัสดุต่างๆ ก็อาจจะเกิดการเสื่อมสภาพได้ ซึ่งในบางครั้งอาจจะเกิดรอยรั่วเพียงเล็กน้อยจนแทบจะมองไม่เห็น ทำให้รอยรั่วนั้นไม่ได้รับการซ่อมแซมอย่างทันท่วงที จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามจนแก้ไขได้ยาก

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาบานปลายจนแก้ไขยาก Global House จะพาคุณมาทำความรู้จักกับวิธีตรวจสอบ และซ่อมรอยรั่วในห้องน้ำ เพื่อให้คุณสามารถสังเกตความผิดปกติและแก้ไขปัญหานั้นได้ทันท่วงที ใครที่กำลังเจอปัญหารอยรั่วในห้องน้ำ หรืออยากตรวจเช็กรอยรั่วในห้องน้ำด้วยตัวเอง ติดตามบทความนี้จบ รับรองไม่มีผิดหวัง!


หัวข้อไฮไลท์

  • รอยรั่วในห้องน้ำเกิดจากอะไร?
  • ตรวจสอบรอยรั่วในห้องน้ำด้วยวิธี "การขังน้ำ"
  • สรุปบทความ


รอยรั่วในห้องน้ำเกิดจากอะไร?

ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักวิธีตรวจสอบและซ่อมรอยรั่วในห้องน้ำ Global House อยากจะพาคุณมาทำความรู้จักกับสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยรั่วในห้องน้ำให้ดีเสียก่อน เพื่อให้คุณทราบสาเหตุและสามารถหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารอยรั่วได้ แล้วสาเหตุของการเกิดรอยรั่วมีอะไรบ้าง เราไปติดตามกันต่อเลย



1. ระบบกันซึมเสื่อมสภาพ หรือทำกันซึมไม่ทั่วบริเวณพื้น

ซีเมนต์กันรั่วซึมทำมาจากซีเมนต์และโพลีเมอร์ที่ผสมกันจนเป็นเนื้อเดียว มีคุณสมบัติในการยึดเกาะพื้นผิว และทำหน้าที่เหมือนฟิล์มเคลือบ เพื่อป้องกันน้ำและความชื้นจากการใช้งานห้องน้ำ รวมถึงลดปัญหาเชื้อราที่เกิดขึ้นตามร่องยาแนวด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อระบบกันซึมเกิดการเสื่อมสภาพ ก็จะทำให้เกิดปัญหาการรั่วซึม หรือเกิดรอยรั่วในห้องน้ำขึ้นมาได้

นอกจากนี้หากทำกันซึมไม่ทั่วบริเวณพื้น ก็จะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ง่ายขึ้น และเมื่อน้ำซึมเข้าไปบริเวณพื้นที่ไม่ได้ทำกันซึม ก็อาจจะส่งผลกระทบกับบริเวณพื้นที่ทากันซึม จนกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามเป็นวงกว้างได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนมากปัญหาเหล่านี้มักจะพบได้บ่อยในบ้านที่มีระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จมาค่อนข้างนาน



2. ท่อ Floor Drain เยื้องศูนย์

การติดตั้งท่อ Floor Drain เยื้องศูนย์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมและรอยรั่วจากพื้นห้องน้ำได้ง่าย เนื่องจากบริเวณจุดต่อของ Floor Drain จะเป็นจุดที่สัมผัสและเชื่อมต่อกับคอนกรีตที่พื้นโดยตรง ทำให้เมื่อ Floor Drain เกิดการเยื้องศูนย์ก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมลงฝ้าชั้นล่าง รวมถึงปัญหากลิ่นเหม็นไม่พึงประสงค์ที่ย้อนกลับขึ้นมาเนื่องจากไม่สามารถติดตั้งลูกถ้วยดักกลิ่นได้

สำหรับวิธีสังเกตในการติดตั้ง Floor Drain ให้ถูกต้องและได้มาตรฐาน เมื่อเปิดฝา Floor Drain ขึ้นมาจะต้องไม่เห็นพื้นผิวปูนอยู่ใน Floor Drain เลย เนื่องจาก Floor Drain จะสวมเข้าไปในท่อระบายน้ำทิ้งที่พื้น เพื่อระบายน้ำโดยตรง ดังนั้น หากเปิดฝาขึ้นมาแล้วเห็นว่า Floor Drain วางไม่ตรงกับรูท่อระบายน้ำทิ้ง นั่นอาจจะหมายถึง ช่างติดตั้ง Floor Drain เยื้องศูนย์ หรือท่อระบายน้ำติดผนังหรือห่างมากเกินไป


3. ทากาวบริเวณข้อต่อท่อน้ำดี และน้ำเสียไม่ดี หรือกาวเสื่อมสภาพ

กาวทาท่อ หรือเรียกอีกชื่อคือ น้ำยาประสานท่อ เป็นสิ่งที่มีไว้ทารอบส่วนปลายของท่อพีวีซีเพื่อเชื่อมปลายด้านนอกของท่อกับด้านในของข้อต่อและอุปกรณ์ชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ ซึ่งโดยปกติแล้ว จะต้องรอและจับท่อไว้อย่างน้อย 20-30 วินาที หรือมากกว่านั้น เพื่อให้ข้อต่อกับท่อเชื่อมกันให้ดี จากนั้นให้รออีก 1 วันถึงจะใช้งานระบบน้ำได้ หากใช้งานระบบน้ำโดยไม่รอให้แห้งสนิทก็อาจจะเกิดปัญหาน้ำรั่วซึม และรอยรั่วได้ ซึ่งปัญหาท่อหลุดจากข้อต่อจนทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมและรอยรั่ว สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น 

  • การใช้กาวทาท่อที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้กาวเสื่อมสภาพเร็ว หรือต้องใช้จำนวนเยอะ
  • ท่อและอุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพ อาจได้ท่อที่มีขนาดไม่พอดีกัน ทำให้การเชื่อมต่อไม่แนบสนิท
  • ท่อหรืออุปกรณ์สกปรก เมื่อมีสิ่งสกปรกติดอยู่บริเวณท่อหรืออุปกรณ์ที่ใช้งาน ก็อาจจะทำให้กาวทาท่อติดกันไม่สนิท หรือเสื่อมสภาพเร็วขึ้นได้
  • ช่างทากาวไม่ดี เพราะช่างบางคนอาจจะรีบทาแค่บนตัวท่อเพียงอย่างเดียว ทำให้สารเคมีบนกาวทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการทาที่ถูกต้อง จะต้องทาทั้งด้านในของท่อ และด้านบนตัวท่อ
  • ไม่ได้รอให้กาวแห้งสนิท เพราะในบางครั้งช่างอาจจะพยายามเร่งงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด จนไม่ได้รอให้กาวแห้งสนิทอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดรอยรั่ว และน้ำรั่วซึมได้


4. ติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำไม่ถูกวิธี

การติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำที่ไม่ถูกวิธี เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งทำให้เกิดปัญหารอยรั่วและน้ำรั่วซึมได้ ซึ่งจุดที่มักจะเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมจะอยู่บริเวณใต้ชักโครก บริเวณชุดข้อต่อกับท่อน้ำทิ้งที่พื้น ซึ่งถ้าหากไม่มีการใส่ขอบยางหรือซิลิโคน แล้วมีน้ำไหลไปจุดดังกล่าว ก็อาจจะเกิดน้ำรั่วซึมได้ง่าย และอาจก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นรบกวน รวมถึงคราบเชื้อราบริเวณพื้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากการติดตั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำไม่ถูกวิธี จะเป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดน้ำรั่วซึม หรือรอยรั่วได้แล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย ดังนี้

  • ท่อสุขภัณฑ์อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ตรงกับท่อน้ำทิ้งที่พื้น ทำให้น้ำรั่วซึมออกมา
  • ปูนยาแนวไม่ดี มีรอยแตกร้าว หรือเสื่อมสภาพ จะทำให้มีน้ำซึมออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และอาจมีคราบสกปรกเข้าไปสะสมอยู่ข้างใต้โถชักโครกได้เช่นกัน


ตรวจสอบรอยรั่วในห้องน้ำด้วยวิธี "การขังน้ำ"

เมื่อได้ทราบสาเหตุของการเกิดปัญหาน้ำซึม และรอยรั่วในห้องน้ำกันไปแล้ว บ้านไหนที่มีปัญหานี้อยู่ก็สามารถนำข้อมูลข้างต้นไปตรวจเช็กเพื่อหาสาเหตุได้เลย นอกจากนี้สำหรับคนที่เพิ่งซื้อบ้าน และอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับบ้าน ก็สามารถตรวจเช็กจุดต่างๆ ที่เรากล่าวไปข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน 



สำหรับข้อมูลที่เราจะนำมาแนะนำต่อไป จะเป็นการตรวจสอบรอยรั่วในห้องน้ำด้วยวิธีการขังน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่างตรวจรับบ้านส่วนใหญ่มักจะใช้กัน ทั้งนี้ หากตรวจสอบรอยรั่วด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรู้สึกไม่มั่นใจ หรือพบความผิดปกติ ก็ควรจะรีบหาวิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม และแก้ไขให้ถูกต้องจะดีกว่า โดยการตรวจสอบรอยรั่วด้วยวิธีขังน้ำ มีขั้นตอนดังนี้

1. ใช้ดินน้ำมัน หรือถุงพลาสติกใส่น้ำไปวางบริเวณหน้ากาก Floor Drain หรือตะแกรงระบายน้ำทิ้งที่พื้นห้องน้ำ

2. เปิดน้ำและปล่อยให้ท่วมพื้นห้องน้ำประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วขังน้ำไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงปล่อยน้ำทิ้ง ในจุดนี้ควรระวังไม่ให้ระดับน้ำถึงขอบประตูห้องน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบานประตูบวมในภายหลัง

3. เมื่อปล่อยน้ำทิ้งเรียบร้อยแล้ว ให้ลองสังเกตคราบน้ำบริเวณฝ้าเพดานชั้นล่าง ในกรณีที่ฝ้าชั้นล่างมีช่อง Service ให้เปิดฝาช่อง Service เพื่อสังเกตการรั่วซึมตามแนวรอบ Floor Drain และตามแนวท่อน้ำต่างๆ ในกรณีที่ไม่มีช่อง Service แนะนำให้เปิดดูด้านบนฝ้าเพื่อสังเกตคราบน้ำ ทั้งนี้กรณีที่มีน้ำรั่วซึม หรือรอยรั่วเพียงเล็กน้อยอาจจะต้องใช้กล้องอินฟราเรดเพื่อตรวจหาความชื้นในจุดที่มองไม่เห็น

ได้ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึม และรอยรั่ว รวมถึงวิธีตรวจสอบรอยรั่วในเบื้องต้นกันไปแล้ว อันดับต่อไปก็ได้เวลาของการแนะนำวิธีซ่อมรอยรั่วซึมในห้องน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรือจะใช้เป็นข้อมูลในการพูดคุยกับช่างก็ได้เช่นกัน สำหรับวิธีที่เรารวบรวมมาแนะนำในบทความนี้ จะมีทั้งหมด 2 วิธีด้วยกัน นั่นก็คือ วิธีซ่อมรอยรั่วแบบไม่รื้อกระเบื้อง และวิธีซ่อมรอยรั่วแบบรื้อกระเบื้อง ดังนั้นไปดูกันดีกว่าว่าวิธีไหนที่ตอบโจทย์กับปัญหา หรือความสะดวกในการซ่อมแซมของคุณบ้าง


1. วิธีซ่อมรอยรั่วซึมในห้องน้ำแบบไม่รื้อกระเบื้อง

มาเริ่มกันที่วิธีซ่อมรอยรั่วซึมในห้องน้ำแบบไม่รื้อกระเบื้อง ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและสะดวกสบาย แต่ต้องบอกก่อนว่า วิธีนี้จะสามารถป้องกันปัญหารอยรั่วซึมในห้องน้ำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ในส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมในการซ่อมแซมรอยรั่วแบบไม่รื้อกระเบื้อง เพื่อความสะดวกและราบรื่นในการทำงาน มีดังนี้

  • อุปกรณ์สกัดปูนยาแนว
  • แผ่นพลาสติก
  • ปูนยาแนว หรือกันซึม



ขั้นตอนการซ่อมรอยรั่วซึม สำหรับขั้นตอนในการซ่อมแซมรอยรั่วซึม จะเริ่มต้นจากการลอกปูนยาแนวเดิมที่เสื่อมสภาพหรือแตกร้าวในจุดที่พบการรั่วซึมออกมา ทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วพักไว้เพื่อรอให้ความชื้นที่ค้างอยู่ใต้กระเบื้องห้องน้ำออกมาให้มากที่สุด โดยให้นำแผ่นพลาสติกมาคลุมไว้ แล้วสังเกตว่ามีหยดน้ำเกาะหรือไม่ หากไม่มีหยดน้ำแสดงว่าไม่มีความชื้นแล้ว สามารถนำปูนยาแนวมาอุดบริเวณร่องยาแนวกระเบื้องเดิม และทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน


2. วิธีซ่อมรอยรั่วซึมในห้องน้ำแบบรื้อกระเบื้อง

มาต่อกันที่วิธีซ่อมรอยรั่วซึมในห้องน้ำแบบรื้อกระเบื้อง ซึ่งแม้ว่าวิธีนี้จะต้องใช้เวลา และมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าวิธีแรก แต่ก็เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ดีที่สุด แต่ก่อนที่จะไปแนะนำขั้นตอนในการซ่อมแซม เราไปดูกันก่อนดีกว่าว่ามีอุปกรณ์อะไรที่ต้องเตรียมบ้าง

  • เทปกาว
  • ตะปู
  • สิ่ว
  • ค้อน
  • ปูนซีเมนต์
  • ปูนยาแนว
  • เกรียงโบกปูน
  • ผลิตภัณฑ์กันซึม



ขั้นตอนการซ่อมรอยรั่วซึม เมื่อเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า ขั้นตอนการซ่อมรอยรั่วซึมแบบรื้อกระเบื้องออกมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยจะเริ่มต้นจากการรื้อกระเบื้องและปูนบริเวณนั้นออกทั้งหมด ตรวจสอบสภาพโครงสร้างพื้นและหากมีรอยแตกร้าวให้ซ่อมแซมด้วยปูนซ่อมแซมโครงสร้างให้เรียบร้อย จากนั้นใช้ผลิตภัณฑ์กันซึมทาในลักษณะพับตามมุมรอยต่อกระเบื้อง รวมถึงรอยต่อระหว่างพื้นกับผนัง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้ปูนทรายปรับระดับที่มีส่วนผสมของน้ำยากันซึม นำกระเบื้องพื้นที่มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำ ซึ่งเป็นกระเบื้องที่เหมาะกับการใช้ในห้องน้ำมาติดตั้งให้เรียบร้อย ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทประมาณ 2-3 วัน 


สรุปเกี่ยวกับการตรวจสอบและซ่อมรอยรั่ว

จากข้อมูลที่ Global House รวบรวมมาให้ในบทความนี้คงจะทำให้ทุกคนได้ทำความรู้จักทั้งสาเหตุของการเกิดปัญหารอยรั่วซึมในห้องน้ำ วิธีตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาการรั่วซึมที่อาจเกิดขึ้น และวิธีแก้ไขปัญหารอยรั่วซึม ซึ่งมีให้คุณเลือกได้ตามความต้องการถึง 2 วิธี ทั้งนี้สำหรับคนที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถซ่อมแซม หรือแก้ไขรอยรั่วซึมต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แนะนำว่าควรเรียกช่างที่มีความเชี่ยวชาญมาจัดการซ่อมแซมให้จะดีกว่า เพราะหากคุณฝืนทำไปโดยไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้

ทั้งนี้สำหรับคนที่พร้อมจะลุยแก้ไขปัญหารอยรั่วซึมด้วยตัวเอง ก็อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และเลือกใช้วัสดุกันซึมที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานไปใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารอยรั่วซึมอีกครั้งในอนาคต โดยคุณสามารถเข้ามาเลือกซื้อที่ Global House ตัวจริงเรื่องบ้าน ได้ของครบจบในที่เดียวได้เลย!

เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง

ผลิตภัณฑ์กันรั่วซึม


เพราะเราคือศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้าน ชั้นนำในประเทศไทย และคุ้มค่าไปอีกขั้นแค่ สมัครสมาชิกโกลบอลคลับ ฟรี พร้อมรับสิทธิพิเศษ สำหรับ สมาชิกโกลบอลคลับ เพียงช้อปครบ 50 บาท รับ 1 คะแนน สะสมโกลบอลคลับสะสมคะแนน เพื่อแลกเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ที่โกลบอลเฮ้าส์ทุกสาขา ทั่วประเทศ

  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 1,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 100 บาท
  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม 9,000 คะแนน แลกรับคูปองแทนเงินสด 1,000 บาท
  • สิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิกโกลบอลคลับ เมื่อใช้คะแนนสะสม แลกซื้อเครื่องดื่ม ที่ลามายอนคอฟฟี่ทุกสาขา


Global House จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้าน ให้คุณครบจบในที่เดียว

เพื่อไม่ให้พลาดทุกโปรโมชันใหม่ๆ ทั้งสินค้าวัสดุก่อสร้าง หรือสินค้าตกแต่งบ้าน สามารถติดตามและสั่งซื้อสินค้า Global House ได้หลากหลายช่องทางที่

Facebook: Global House โกลบอลเฮ้าส์

Line@: @globalhouse

App Click&Collect


บริการช่างดี

App ช่างดี

Facebook: ChangDeeService

Line Official: @Changdee






เนื้อหาที่คล้ายกัน